ปีที่ 9 ฉบับที่ 90 (กันยายน-ตุลาคม 2567)


รายละเอียด

ด้วยยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยที่จะให้บริการทางการแพทย์ และการรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศแก่ประชาชนทุกระดับ ซึ่งหมายถึงการตอบสนองผู้ใช้บริการทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มโรค

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงมีการจัดตั้งคลินิกเฉพาะทางอย่างหลากหลายและครอบคลุม ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย ทั้งโรคทั่วไปจนถึงโรคยากและซับซ้อน ซึ่งวารสาร ฬ จุฬา ฉบับนี้ได้นำเสนอไว้แล้วใน Special Scoop

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจุฬากรณ์ สภากาชาดไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนั่นคือการปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกและการเปิดใช้ "ลานจักรพงษ์" ให้เป็นพื้นที่ที่เป็น "จุดเริ่มต้น" บริการผู้ป่วยนอกโดยมีการจัดตั้งตู้ลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิ์แบบใหม่จำนวน 26 ตู้ครอบคลุมผู้ใช้บริการทุกสิทธิ์การรักษา นอกจากนี้ยังมี"เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วย" และหุ่นยนต์ "Mr. Sam" ซึ่งพร้อมช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก เพื่อให้การบริการเป็นไปได้อย่างถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น รายละเอียดได้ถูกถ่ายทอดไว้ในคอลัมน์ Special Story 

คอลัมน์ คนต้นแบบ ก็เป็นอีกหนึ่งความประทับใจเช่นเคย จากบทสัมภาษณ์ คุณภัณฑิรา ชื่นจิตร หัวหน้าฝ่ายการเงิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ยกให้ รศ.นพ.นภดล นพคุณ อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาอายุรศาสตร์สาขาตจวิทยา และผู้จัดการโครงการระบบสารสนเทศโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นผู้สร้างระบบของฝ่ายการเงินและฝ่ายบัญชีไว้อย่างดีเยี่ยม เป็นคนต้นแบบที่เธอยึดถือมาโดยตลอด คอลัมน์ More Than A Med Student ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับชมรมวรรณกรรม ซึ่งเป็นชมรมใหม่ถอดด้ามของสโมสรนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุดท้ายขอแนะนำ "Check PD" แอปพลิเคชันคัดกรองโรคพาร์กินสัน จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ หากอยากรู้รายละเอียดเปิดอ่านคอลัมน์ Chula Innovation ได้เลยค่ะ.